คุณสมบัติของผู้เข้าชิงประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ผู้เข้าชิงประธานาธิบดีจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ข้อ
๑. เป็นประชากรของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่กำเนิด
๒. มีอายุอย่างน้อย ๓๕ ปี
๓. พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกามาแล้ว ๑๔ ปี
การหาตัวแทนพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
ขั้นที่ ๑: พรรคสรรหาเคนดิเดท
พรรคทำการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะทำหน้าที่ประธานาธิบดีในอนาคตซึ่งอาจมีหลายคน บุคคลเหล่านี้จะถูกเรียกว่า เคนดิเดท (Candidate) เมื่อพรรคได้ตัวเคนดิเดทครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว พรรคจะทำการประกาศรายชื่อเดนดิเดทให้ทั้งประเทศรับทราบ
ขั้นที่ ๒: แต่ละรัฐสรรหาดีลีเกท
เมื่อทั้งประเทศได้รับทราบเดนดิเดทของพรรค รัฐแต่ละรัฐจะร่วมมือกับพรรคการเมือง จัดหาตัวแทนของรัฐซึ่งจะทำหน้าที่ออกคะแนนเสียงให้กับเดนดิเดท เรียกว่า ดีลีเกท (Delegate)
การหาดีลีเกท จะได้มาจากการโหวตของประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะถูกเรียกว่า โหวตเตอร์ (Voter) ประชาชนกลุ่มนี้จะเป็นใครนั้นขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละรัฐและพรรคการเมืองเป็นผู้กำหนด ส่วนวิธีการโหวตสามารถแบ่งได้ออกเป็นสองวิธี ไพรมารี (Primaries) และ คอคูเซส (Caucuses)
ไพรมารี เป็นการเลือกตั้งที่จัดโดยรัฐ เหมือนการเลือกตั้งปกติที่เคยเห็นจนชินตา คือให้โหวตเตอร์เข้าคูหากาเคนดิเดทที่ตัวเองชอบ จากนั้นนับคะแนน คะแนนที่เคนดิเดทได้รับ จะเป็นตัวกำหนดจำนวนดีลีเกทที่เคนดิเดทแต่ละคนได้รับ
คอคูเซส เป็นการเลือกตั้งที่จัดโดยพรรคการเมือง วิธีการลงคะแนนแตกต่างจากไพรมารี โหวตเตอร์จะทำการจัดกลุ่มตามเคนดิเดทที่ตัวเองชื่นชอบ และอาจมีกลุ่มพิเศษที่โหวตเตอร์ยังตัดสินใจไม่ได้ จากนั้นให้แต่ละกลุ่มทำการอภิปรายข้อดีเคนดิเดทของตัวเอง เพื่อหวังให้โหวตเตอร์กลุ่มอื่นเปลี่ยนใจมาเข้ากลุ่มของตน เมื่อจบงาน จำนวนคนในแต่ละกลุ่ม จะเป็นตัวกำหนดจำนวนดีลีเกทที่เคนดิเดทแต่ละคนได้รับ
ดีลีเกทที่ได้จากขั้นที่ ๒ ถูกเรียกว่า เพรจดีลีเกท (Pledged Delegates)
ขั้นที่ ๓: พรรคหาดีลีเกท
ดีลีเกทยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกเลือกโดยพรรคการเมือง ดีลีเกทกลุ่มนี้มักเป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมือง เช่น ผู้ว่าการรัฐ คนในสภาคองเกรส เป็นต้น
ดีลีเกทที่ได้จากขั้นที่ ๓ ถูกเรียกว่า อันเพรจดีลีเกท (Unpledged Delegates) บางครั้งเรียกว่า ซุปเปอร์ดีลีเกท (Super Delegates)
ขั้นที่ ๔: ดีลีเกทเลือกนอมินี
เมื่อได้ดีลีเกทครบจำนวน ดีลีเกททุกคนจะเดินทางเข้าสู่การประชุมใหญ่ของพรรคที่เรียกว่า เนชันนัลคอนเวนชัน (National Convention) พอถึงขั้นตอนนี้ ทั้งประเทศน่าจะรู้ผลบ้างแล้วว่าเคนดิเดทคนใดจะได้เป็นตัวแทนพรรคในการเข้าชิงประธานาธิบดี เรียกอีกอย่างว่า นอมินี (Nominee) จากผลของไพรมารีและคอคูเซสในแต่ละรัฐ แต่ถ้าผลยังไม่ชัดเจนหรือยังมีความแคลงใจ พรรคจะใช้งานนี้ในการโหวตหานอมินี เรียกว่า คอนเทส (Contested) โดยกระบวนการเป็นดังนี้
รอบแรก: เพรจดีลีเกททุกคนทำการโหวต โดยเพรจดีลีเกทจะต้องโหวตให้เคนดิเดทตามที่ตัวเองได้รับมอบหมายจากไพรมารีและคอคูเซสเท่านั้น ในรอบนี้อันเพรจดีลีเกทจะไม่สามารถออกเสียงได้ ถ้ารอบแรกคะแนนเสียงของเคนดิเดทคนใดถึงตามที่กำหนด จะถือว่าเป็นการจบคอนเทส และ เคนดิเดทคนนั้นได้เป็นนอมินีของพรรคเพื่อศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีประธานาธิบดีต่อไป และอนุญาตให้อันเพรจดีลีเกทออกเสียงได้ แต่ไม่มีผลใดๆกับการเลือกนอมินี แต่ถ้าไม่มีเคนดิเดทคนใดได้รับคะแนนเสียงถึงตามที่กำหนด จะมีการโหวตรอบสอง
รอบสองและรอบถัดไป: ถูกเรียกว่า โบรกเกอร์ (Brokered) เพรจดีลีเกทจะทำการโหวตให้เคนดิเดทคนใดก็ได้ จากนั้นอันเพรจดีลีเกทจะทำการโหวต ถ้าเคนดิเดทคนใดได้รับคะแนนถึงตามที่กำหนดเอาไว้ จะถือว่าสิ้นสุดและถือว่าเคนดิเดทคนนั้นได้เป็นนอมินีของพรรคเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งประธานธิบดี แต่ถ้าไม่มีเคนดิเดทคนใดได้รับคะแนนเสียงถึงตามที่กำหนด ก็จะเริ่มกระบวนการโบรกเกอร์ใหม่อีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้นอมินี

การเลือกตั้งประธานาธิบดี
เมื่อแต่ละพรรคได้นอมินีแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการหาเสียงเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมีกระบวนการขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑: ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทำการลงทะเบียน
ก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงหรือโหวตเตอร์ (Voter) จะต้องทำการลงทะเบียนกับทางรัฐเสียก่อน คุณสมบัติของโหวตเตอร์จะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่รายละเอียดที่เหมือนกันส่วนใหญ่คือ มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป
ขั้นที่ ๒: โหวตเตอร์ออกเสียงในวันเลือกตั้ง
ตามกฎหมาย วันเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้นทุก ๔ ปี ในวันอังคารแรกหลังจากวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน
ขั้นที่ ๓: นับคะแนนเสียงในแต่ละรัฐ
เมื่อปิดคูหา รัฐแต่รัฐจะทำการนับคะแนน นอมินีของพรรคใดได้คะแนนเสียงมากสุด จะถือว่านอมินีคนนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐนั้น
ขั้นที่ ๔: ตัวแทนรัฐออกเสียงโหวตประธานาธิบดีในสภา
กระบวนการในขั้นที่ ๔ ถูกเรียกว่า อีเลกเทอรัลคอเลจ (Electoral College) รัฐแต่รัฐจะส่งตัวแทนรัฐ หรือ อีเลกเตอร์ (Electors) เข้าสู่สภา เพื่อทำการเลือกประธานาธิบดี อีเลกเตอร์มาจากสมาชิกสภาคองเกรส ๕๓๘ ท่าน ในหนึ่งรัฐจะมีอีเลกเตอร์มากกว่าหนึ่งคนและแต่ละรัฐมีจำนวนอีเลกเตอร์ไม่เท่ากัน นอมินีของพรรคใดชนะโหวตในรัฐ อีเลกเตอร์ของรัฐนั้นทุกคนจะต้องออกเสียงสนับสนุนให้นอมินีของพรรคนั้นในสภาด้วยเช่นกัน นอมินีคนใดได้เสียงโหวตจากอีเลกเตอร์อย่างน้อย ๒๗๐ เสียง จะถือว่านอมินีคนนั้นได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนถัดไป

ขั้นที่ ๕: การสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
ผู้ชนะในขั้นตอนที่ ๔ จะได้รับตำแหน่งก็ต่อเมื่อทำการสาบานตนในวันที่ ๒๐ มกราคม ซึ่งจะเป็นวันที่ประธานาธิบดีคนเดิมลงจากตำแหน่งด้วยเช่นเดียวกัน
สรุปวันเวลาโดยประมาณของกระบวนการเลือกตั้ง
มกราคมถึงมิถุนายน ปีที่มีการเลือกตั้ง: พรรคประกาศรายชื่อเคนดิเดท และมีการจัดไพรมารีและคอคูเซส
กรกฎาคมถึงกันยายน: พรรคจัดเนชันนัลคอนเวนชันเพื่อหานอมินี
กันยายนถึงตุลาคม: นอมินีของแต่ละพรรคทำการหาเสียงและอภิปรายแข่งกัน
ต้นพฤศจิการยน: วันเลือกตั้ง
ธันวาคม: อีเลกเตอร์เริ่มกระบวนการอีเลกเทอรัลคอเลจ
ต้นเดือนมกราคมของปีถัดไป: สภาคองเกรจนับเสียงจากอีเลกเตอร์
๒๐ มกราคม: เข้าทำการสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง
(1) https://www.usa.gov/election
(2) https://www.voanews.com/usa/how-us-presidential-caucus-primary-process-works
(3) https://www.ncsl.org/research/elections-and-campaigns/primary-types.aspx
(4) https://www.cfr.org/backgrounder/us-presidential-nominating-process